กล้วยไม้

 

กล้วยไม้ (Orchid)

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามสกุล

วงศ์ : Orchidaceae

 

 

 

 

ลักษณะทั่วไป

 

กล้วยไม้เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว สำหรับประเทศไทยมีมากมายหลากหลายสกุล จำแนกได้หลายแบบ เช่น จำแนกตามถิ่นกำเนิด การเจริญเติบโตและรูปทรง สภาพพื้นที่อาศัยและระบบราก และตามแหล่งที่มา เป็นต้น

 

ลักษณะพิเศษของกล้วยไม้

 

1. เกสรตัวผู้อยู่ข้างเดียวของดอก (ไม่สมดุล) กล้วยไม้ส่วนใหญ่มีเกสรตัวที่ไม่เป็นหมันเพียงอันเดียว แต่มีกล้วยไม้เพียง 1 สกุลที่มี 3 อัน แต่ล้วนอยู่ข้างเดียวซึ่งอาจเป็นขั้นตอนสำคัญของวิวัฒนาการของกล้วยไม้

2. เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียบางส่วนจะรวมกัน แต่ส่วนใหญ่จะรวมทั้งหมดเป็นโครงสร้างเดียวคือ “เส้าเกสร”

3. เมล็ดมีขนาดเล็กจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับพืชอื่น ๆ

4. ดอกกล้วยไม้มีกลีบชั้นในซึ่งเรียกว่า “ปาก” จะอยู่ตรงข้ามกับเกสรตัวผู้ที่ไม่เป็นหมัน ซึ่งต่างจากกลีบชั้นในอีก 2 อัน มีกล้วยไม้เพียงส่วนน้อยที่ “ปาก” ไม่แตกต่างจากกลีบชั้นในอีก 2 อัน

5. ดอกกล้วยไม้จะบิดในช่วงที่ดอกกำลังพัฒนา ตาดอกหรือดอกตูมจะบิดเพื่อให้ปากอยู่ส่วนล่างของดอกเมื่อบาน ซึ่งเรียกว่า “resupination”

6. ส่วนของ stigma ที่เรียกว่า “rostellum” จะเกี่ยวข้องกับการส่งกลุ่มเรณูจากดอกหนึ่งไปยังอีกดอกหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดสำคัญของวิวัฒนาการของกล้วยไม้

7. เรณูจะรวมกันเป็นกลุ่มเรณู ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะในวงศ์กล้วยไม้ ลักษณะนี้กับ rostellum จะเกี่ยวข้องกันอย่างมากในการถ่ายละอองเกสรโดยแมลงและนก ซึ่งจะพากลุ่มเรณูไปทั้งกลุ่ม ทำให้กล้วยไม้มีเมล็ดจำนวนมาก เนื่องจากเรณูไม่สูญเสียไปเหมือนพืชอื่น ๆ เมื่อฝักหรือผลแก่จะแตกออก เมล็ดซึ่งมีขนาดเล็กและมีอาหารสะสมเพียงเล็กน้อยจะปลิวกระจายไปตามลม มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะงอกเป็นต้น 

 

 

 

 

 

กล้วยไม้ที่เจริญเติบโตอยู่ในธรรมชาติสามารถแบ่งตามลักษณะการเจริญเติบโต ได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

  

กล้วยไม้อากาศ (epiphyte) คือกล้วยไม้ที่เกาะอาศัยอยู่บนต้นไม้อื่น ๆ โดยมีรากเกาะติดกับกิ่งไม้หรือลำต้น กล้วยไม้อากาศไม่ได้แย่งอาหารจากต้นไม้ที่มันขึ้นอยู่ แต่ได้รับอาหารจากซากอินทรีย์วัตถุ เช่น ใบไม้ที่ร่วงและผุพัง รวมทั้งซากแมลงที่หล่นและน้ำฝนชะมาอยู่บริเวณโคนต้นกล้วยไม้ รากกล้วยไม้อากาศชอบการถ่ายเทอากาศและการระบายน้ำที่ดี

 

กล้วยไม้อากาศที่ส่วนใหญ่เป็นกล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตเป็นลำต้นเดี่ยวไม่มีการแตกกอ (monopodial) เช่น สกุลแวนด้า (Vanda) สกุลเข็ม (Ascocentrum) สกุลช้าง (Rhychostylis) สกุลกุหลาบ (Aerides) สกุลฟาเลนอปซิส (Phalaenopsis) ฯลฯ กล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตเป็นกอ (sympodial) เช่น สกุลหวาย (Dendrobium) สกุลออนซิเดียม (Oncidium) กลุ่มแคทลียา (Cattleya alliance) ฯลฯ

 

กล้วยไม้ดิน (terrestrial) พบขึ้นอยู่ตามพื้นดินที่ปกคลุมด้วยอินทรีย์วัตถุ ส่วนมากเป็นพวกที่มีหัวอยู่ใต้ดินและเป็นพวกที่มีการพักตัวตลอดฤดูแล้ง โดยเหลือเพียงหัวฝังอยู่ใต้ดิน เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนจะผลิใบและช่อดอกและสร้างหัวใหม่ขึ้นมาพร้อม ๆ กัน เมื่อดอกโรยใบจะเหี่ยวแห้ง คงเหลือหัวฝังอยู่ในดินตลอดฤดูแล้ง เช่น กล้วยไม้สกุลฮาบีนาเรีย (Habenaria) สกุลเปคไตลิส (Pecteilis) ฯลฯ เมื่อนำมาปลูกเลี้ยงในช่วงฤดูแล้งต้องแยกไว้ต่างหาก ไม่รดน้ำ เพราะจะทำให้หัวเน่า กล้วยไม้อีกประเภทหนึ่งเป็นพวกรากกึ่งดินคือกล้วยไม้สกุลรองเท้านารี (Paphiopedilum spp.)

 

 

การปลูกและการดูแลรักษา

 

สภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 25-35 องศาเซลเซียส

แสง  กล้วยไม้ควรได้รับแสงตลอดวัน แสงประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์

การให้ปุ๋ย

 

-ควรให้ปุ๋ยทั่วถึงทั้งทางต้น ราก และใบ

 

Tip

 

-ปุ๋ยที่มี N : P : K อัตราส่วน 1:1:1 ใช้กับกล้วยไม้ทุกระยะการเจริญเติบโต ถ้าใช้ติดต่อกันจะทำให้ต้นเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น ปุ๋ยละลายช้าออสโมโค้ท สูตร 13-13 13

-ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เช่น  N : P : K อัตราส่วน 3:2:1 ช่วยเร่งการเจริญเติบโตทางใบ แต่ถ้าใช้นานๆ จะทำให้ต้นกล้วยไม้อวบหนาเกินไป ไม่ทนทานต่อโรคและแมลง

-ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น N : P : K อัตราส่วน 1 : 2 : 1 เร่งการเจริญเติบโตของราก และการออกดอก ทำให้ต้นแข็งแรง ทนทานโรคและแมลง

-ปุ๋ยที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น  N : P : K อัตราส่วน 1:3:5 หรือ 5:7:9 เหมาะกับกล้วยไม้ระยะออกดอก ช่วยให้ดอกมีคุณภาพ สีสดใส และบานทน

 

ปุ๋ยละลายช้า ใช้กับกล้วยไม้ทุกระยะการเจริญเติบโต ถ้าใช้ติดต่อกันจะทำให้ต้นเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น ปุ๋ยละลายช้าออสโมโค้ท สูตร 13-13 13

 

การให้น้ำ ควรให้วันละ 1 ครั้ง ช่วงเช้า ระหว่าง 6 โมง- 9 โมง ถ้าฝนตกควรงดน้ำ จนกว่าเครื่องปลูกจะแห้ง และช่วงฤดูแล้งควรให้น้ำมากกว่าวันละ 1 ครั้ง

 

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ

 

1.โรคเน่าดำ หรือโรคยอดเน่า หรือโรคเน่าเข้าไส้ (Black rot)

 

 

 

 

สาเหตุ : เชื้อรา Phytophthora palmivora (Butl) Butl.

ลักษณะอาการ : เกิดขึ้นได้ทุกส่วนของต้นตั้งแต่ราก ใบ ยอด และดอก ถ้าเข้าทางรากจะทำให้รากเน่าแห้ง ส่งผลให้ใบเหลืองร่วง ถ้าเข้าทางยอดจะทำให้ยอดเน่าเป็นสีน้ำตาล เมื่อจับจะหลุดติดมือออกมาง่าย

 

ราก เป็นแผลสีดำ เน่า แห้ง ยุบตัวลง หรือรากเน่าแห้งแฟบ ต่อมาเชื้อจะลุกลามเข้าไปในต้น

ต้น จะสามารถเข้าได้ทั้งยอดและโคนต้น ทำให้ยอดเน่าดำ ถ้าทำลายโคนต้น ใบจะเหลืองและหลุกร่วงจนหมด เรียกว่าโรคแก้ผ้า

ใบ เป็นจุดใส ชุ่มน้ำ สีเหลือง ต่อมาสีเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และเป็นสีดำในที่สุด

ก้านช่อดอก เป็นแผลเน่าดำ ในสภาพที่มีความชื้นสูงแผลจะขยายใหญ่ลุกลามจนก้านช่อดอก หักพับ

ดอก เป็นจุดแผลสีดำ มีสีเหลืองล้อมรอบ หากเป็นกับดอกตูมขนาดเล็กดอกจะเน่า และหลุดจากก้านช่อ

 

Tip

 

ไม่ควรปลูกกล้วยไม้แน่นเกินไป และไม่ควรให้น้ำตอนเย็นใกล้ค่ำ โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาว

 

2.โรคดอกสนิม หรือจุดสนิม (Flower rusty spot)

 

 

 

 

สาเหตุ : เชื้อรา Curvularia eragrostidis (P.Henn.) A.Meyer

ลักษณะอาการ จะพบจุดขนาดเล็กสีเหลืองอมน้ำตาลบนกลีบดอก เมื่อจุดขยายโตขึ้นจะมีสีเข้มคล้ายสีสนิม ระบาดมากช่วงที่มีน้ำค้างมาก

 

3.โรคใบปื้นเหลือง (Yellow leaf spot)

 

 

 

 

สาเหตุ :  เชื้อรา Pseudocercospora dendrobii Deighton

ลักษณะอาการ เกิดจุดกลมสีเหลืองที่ใบ บริเวณโคนต้น ถ้าอาการรุนแรงจะขยายติดต่อกันเป็นปื้นเหลืองตามแนวยาวของใบ เมื่อพลิกดูด้านใต้ใบจะพบกลุ่มผงสีดำ ใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและร่วง ส่วนมากจะเกิดจากใบที่อยู่โคนต้นก่อน และค่อยลุกลามไปเรื่อยๆ จนถึงส่วนยอด ระบาดมากในช่วงฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว

 

4.โรคใบจุด (leaf spot)

 

 

 

 

สาเหตุ :

 

เชื้อรา Alternaria alternate

 

ลักษณะอาการ อาการบนใบจะพบจุดขนาดเล็กสีเหลืองอ่อน น้ำตาล หรือ น้ำตาลเข้ม รูปร่างกลมหรือรูปไข่  บนด้านหน้าและด้านหลังใบ แผลบุ๋มลงไปจากผิวใบ ขอบแผลจะเป็นจุดช้ำน้ำ อาการที่ดอกเริ่มแรกจะเป็นจุดช้ำน้ำขนาดเล็ก เมื่อแห้งเปลี่ยนเป็นจุดสีน้ำตาลอ่อนหรือเข้ม ต่อมาแผลขยายออกไปตามความยาวและความกว้างของกลีบดอก  ขอบแผลเป็นสีน้ำตาลเข้ม เนื่อเยื่อรอบๆแผลเป็นสีเหลือง ยุบตัวลงไป ตรงกลางแผลเป็นจุดสีน้ำตาลเข้ม

 

เชื้อรา Phyllostictina pyriformis (Cash & Watson)

 

กล้วยไม้สกุลแวนด้า ลักษณะแผลเป็นรูปยาวรีคล้ายกระสวย  ถ้าเป็นมากแผลจะรวมกันเป็นแผ่น บริเวณตรงกลางแผลจะมีตุ่มนูนสีน้ำตาล หรือสีม่วงปนน้ำตาล เวลาลูบจะรู้สึกสากมือ แผลจะไม่ทะลุถึงกัน ชาวสวนเรียกว่า โรคขี้กลาก หรือขี้กลากราชบุรี กล้วยไม้สกุลหวาย ลักษณะแผลเป็นจุดกลมสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ขอบแผลมีสีน้ำตาลอ่อน บางครั้งแผลจะบุ๋มลึกหรืออาจนูนเล็กน้อย หรือเป็นสะเก็ดสีดำ เกิดได้ทั้งด้านบนใบและใต้ใบ

 

5.โรคเน่าเละ  (Bacterial Soft-Rot)

 

สาเหตุ เกิดจากชื้อแบคทีเรีย Erwinia carotovora

ลักษณะอาการ ระยะแรกเป็นจุดช้ำน้ำขนาดเล็กบนใบหรือหน่ออ่อน แผลจะขยายขนาดใหญ่ขึ้น และเนื้อเยื่อมีลักษณะเหมือนถูกน้ำร้อนลวก ใบพองเป็นสีน้ำตาล ของแผลมีสีเหลืองเห็นชัดเจน ภายใน 2-3 วัน เนื้อเยื่อใบจะโปร่งมองเห็นเส้นใบ ถ้ารุนแรงกล้วยไม้จะเน่ายุบและตายทั้งต้น

 

6.โรคแอนแทรคโนส และโรคเกสรดำ (Anthracnose and Black anther)

 

 

 

 

 

สาเหตุ  เกิดจากเชื้อรา colletotrichum gloeosporioides (Penz.) Sacc

ลักษณะอาการ ใบและลำต้น อาการเริ่มแรกเป็นจุดฉ่ำน้ำสีเขียว ต่อมาแผลที่ปลายใบ หรือบนใบกล้วยเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เหลืองเข้ม และขยายใหญ่เป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือเข้ม เนื้อเยื่อของแผลยุบตัวต่ำกว่าระดับเดิมเล็กน้อย ขอบแผลล้อมรอบด้วยสีเหลืองเข้ม บนแผลมีสปอร์ของเชื้อรา เมื่อแห้งจะกลายเป้นตุ่มสีดำเล็กๆ เรียงซ้อนกันหลายชั้น ทำให้ใบเน่าและแห้ง ร่วงจากต้น

             

แมลงศัตรูที่สำคัญ

 

1.เพลี้ยไฟ (Cotton thrips)

 

 

 

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ Thrips palmi Karny

ลักษณะและการเข้าทำลาย จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากเนื้อเยื่อกลีบดอกกล้วยไม้ ทำให้เกิดรอยด่างกระจายอยู่ทั่วกลีบดอก ชาวสวนเรียกว่าตัวกินสี ระบาดมากในช่วงหน้าร้อน และหนาว ในสภาพอากาศแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานๆ

Tip 

            วิธีการตรวจเช็ค ให้เด็ดดอกหรือยอดที่สงสัย มาเคาะบนกระดาษสีขาว จะเห็นตัวเพลี้ยไฟหล่นออกมาอาจจะมีสีเหลืองใส หรือสีน้ำตาล สีดำ ลำตัวเรียวยาว

 

2.บั่วกล้วยไม้ (Orchid midge)

 

 

 

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ Contarinia sp.

ลักษณะและการเข้าทำลาย ตัวเต็มวัยจะวางไข่ในเนื้อเยื่อของก้านช่อดอก และเมื่อโตเต็มวัยจะกัดกินกลีบดอกด้านใน ทำให้ดอกตูมชะงักการเจริญเติบโต ดอกจะร่วงอย่างรวดเร็ว ชาวสวนเรียกว่า ไอ้ฮวบ  พบระบาดมากในฤดูฝน

Tip  ควรเก็บดอกที่ถูกบั่วทำลายไปเผาทำลายไม่ควรปล่อยให้ดอกร่วงหล่นจากก้านดอก จะทำให้หนอนดีดออกจากดอกหรือฝัก

 

3.หนอนกระทู้ผัก  (Common cutworm)

 

 

ชื่อวิทยาศาสตร์  Spodoptera litura Fabricius

ลักษณะและการเข้าทำลาย ลำตัวอ้วนกลม มีจุดสีน้ำตาลใหญ่ตรงปล้องที่ 3 ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน จะแทะกัดกินผิวใบและดอก วัยต่อมาจะเคลื่อนย้ายกัดกินส่วนต่างๆ

 

4.หนอนกระทู้หอม/หนอนหนังเหนียว/หนอนหลอดหอม/หนอนเขียว (Beet armyworm)

 

 

 

 

ชื่อวิทยาศาสตร์  Spodoptera exigua Hubner

ลักษณะและการเข้าทำลาย  มีลำตัวอ้วน ผนังลำตัวเรียบ มีหลายสี ด้านข้างมีแถบสีขาวพาดตามยาวออกจาอกถึงปลายสุดของลำตัวข้างละแถว ตัวหนอนจะกัดกินดอก ต้น และใบเป็นรอยแหว่ง ระบาดมากในช่วงฤดูร้อน

 

5.หอยทาก (Land Snail)

 

 

 

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ Achatina spp.

ลักษณะและการเข้าทำลาย หอยทากที่พบในสวนกล้วยไม้ส่วนใหญ่เป็นหอยขนาดเล็ก ทำลายโดยการกัดกินตาหน่อ ตาดอก และช่อดอก โดยปล่อยเมือกไว้เป็นทางตามแนวเดินของหอยทาก

 

 

เกษตรดีที่เหมาะสม สำหรับกล้วยไม้ตัดดอก กรมวิชาการเกษตร 

http://ag-ebook.lib.ku.ac.th/ebooks/2013/20130033/index.html#/2/zoomed

https://sites.google.com/site/bhummarinphueng003/home/prawati-klwymi

 

 

บริษัท โซตัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

อาคารโซตัส เลขที่ 77 เมืองทองธานี ถ.แจ้งวัฒนะ ต.บางพูด

อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120

 

โทรศัพท์ : 02 984-0999 ต่อ 555

โทรสาร : 02 984-0997-8

E-Mail : gardenmaster@sotus.co.th

Copyright © 2016 garden.sotus.co.th All Rights Reserved.