แคคตัส

แคคตัส (Cactus)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : -

วงศ์ :  Cactaceae

ชื่ออื่นๆ : กระบองเพชร

 

 

 

 

ลักษณะทั่วไป

 

แคคตัส เป็นพืชอวบน้ำ (succulent) ซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญของพืชในบริเวณที่มีความแห้งแล้ง จึงมีการสะสมน้ำไว้ในส่วนของต้น ราก และใบ แคคตัสมีลักษณะหลากหลายทั้งในส่วนของชนิดและรูปร่าง แคคตัสเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ มีจุดเด่นที่ “ตุ่มหนาม” บริเวณนี้จะเป็นที่ที่พบกลุ่มของหนามหรือขนแข็งขึ้นอยู่และเรียงไปตามแนวซี่หรือสันสูงของต้นอย่างเป็นระเบียบ อีกทั้งยังเป็นบริเวณที่เกิดตาดอกและแตกกิ่งใหม่ของต้นอีกด้วย

 

ลำต้น ค่อนข้างอวบ มีผิวเรียบเป็นมัน ทำหน้าที่เก็บกักน้ำไว้ภายใน มีหลายรูปทรง เป็นลำต้นเดี่ยวหรือแตกกิ่งก้าน มีสันต้นหยักเป็นพู แต่ละสันมีเนินหนามนูนเด่น บางชนิดมีรูปร่างคล้ายใบหรือเป็นแท่งกลมไร้หนาม บ้างก็เจริญเป็นทรงกลมเดี่ยวหรือแตกกอ

ใบ แคคตัสวิวัฒนาการให้มีความอยู่รอดโดยการลดรูปใบให้เหลือเพียงหนามแหลม เพื่อป้องกันการคายน้ำ มีเพียงเนินหนามที่ยื่นยาวออกมาคล้ายกับใบจริง

หนาม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือหนามกลาง ซึ่งมักจะมีขนาดใหญ่ และหนามข้างขนาดย่อมล้อมรอบ หนามของแคคตัสมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับชนิดและพันธุ์ แคคตัสบางต้นมีหนามแหลมพุ่งออกมาอย่างแน่นทึบแทบจะมองไม่เห็นผิวของลำต้น หนามนั้นก็มีสีต่างๆ กันไป มีทั้งสีเหลือง สีน้ำตาล สีดำ สีขาว ฯลฯ ลักษณะของหนามของไม้แต่ละต้นแต่ละชนิดก็ยังผิดแผกกันไปอีก หนามของบางต้นก็กลมยาวพุ่งออกมา บางต้นไม่พุ่งออกมา แต่กลับเอนราบแนบสนิทไปกับลำต้น   ดอก แคคตัสให้ดอกบริเวณใกล้กับส่วนยอด อาจผลิออกจากซอกเนินหนามหรือปลายเนินหนาม หรือที่ตุ่มหนาม บางชนิดมีอายุเพียงหนึ่งวัน บางชนิดบานได้ 2-4 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ มีทั้งบานกลางวันและกลางคืน บางชนิดมีกลิ่นหอมเพื่อล่อแมลงมาผสมเกสร

 

ผลและเมล็ด เป็นผลเนื้อนุ่มหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือทรงกลม ผิวเรียบเป็นมัน บางชนิดอาจมีขนหรือหนามแหลมปกคลุม ภายในเป็นเนื้อใส มีเมล็ดแทรกภายใน เมื่อสุกเปลี่ยนสีและปริแตก

 

การดูแลรักษา

ปัจจัยหลักในการเลี้ยงแคคตัส ก็คือ แสงแดด อุณหภูมิ เครื่องปลูก น้ำ ปุ๋ย และ โรงเรือน

 

แสงแดด (Sunlight)  แคคตัสอาศัยแสงแดดในการปรุงอาหารเลี้ยงลำต้นเพื่อความเจริญเติบโตและการอยู่รอด เช่นเดียวกับต้นไม้ชนิดอื่น แคคตัสควรจะได้รับแสงแดดให้นานตลอดวัน เพราะการได้รับแสงแดดที่เต็มที่นี้ จะทำให้แคคตัสแข็งแรงเติบโต ได้รูปทรงที่ถูกต้องตามลักษณะสายพันธุ์ ไม่สูงชะลูด หรือ ยืดหัวหลิม และแสงแดดยังทำให้ หนามของแคคตัสใหญ่ และ ยาวขึ้น ถ้าเป็นต้นที่มีขนสีขาว ขนก็จะขาวขึ้น ถ้าเป็นหนามที่มีสี สีสันก็จะออกจัดจ้านขึ้นด้วย การที่หนามมากขึ้น หรือ หนาขึ้นนั้น เป็นสัญชาตญาณเพื่อสร้างการป้องกัน เพื่อปกป้องตัวเองจากแสงแดดนั่นเอง แต่ก็อาจมีบางชนิดที่ต้องเลี้ยงร่มกว่าปกติ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ชนิดนั้นๆด้วย

การนำแคคตัสออกแดดจัดนั้นจะต้องมีวิธีการอย่างค่อยๆเป็น ค่อยๆไป ต้นไหนที่รากยังไม่เดินเต็มที่ ก็ควรตั้งไว้ในที่ถูกแดดไม่มากนั้น เมื่อรากเดินเต็มที่แล้ว (ดูได้จากยอดที่เริ่มออกใหม่ หรือ ต้นเริ่มแน่นแล้ว) จึงค่อยย้ายไปในที่ได้รับแดดได้มากขึ้น หรือ ต้นไหนที่เริ่มมาจากการเลี้ยงร่ม ก็ต้องค่อยเพิ่มแดดให้เค้าทีละนิด ทีละนิด ถ้านำออกไปตากแดดจัดทันที อาจทำให้ต้นไม้ไหม้ ผิวเสีย และอาจถึงตายได้  ต้องใจเย็นๆ ค่อยปรับสภาพต้นไม้ เพื่อให้รับสภาพกับแดดที่จัดได้ แล้วคุณจะรู้ว่ามันคุ้มค่าจริงๆ กับหนามใหม่ที่จะออกมายลโฉมให้เห็น

 

อุณหภูมิ (Temperature) แคคตัสแม้อากาศร้อน แห้งแล้ง ในทะเลทรายก็ยังสามารถเติบโตได้ ดังนั้นบ้านเราจึงโชคดีเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีอากาศที่ร้อน (ถึงร้อนมาก) จึงทำให้เราสามารถเลี้ยงแคคตัสให้เติบโตดีได้ตลอดทั้งปี

 

เครื่องปลูกแคคตัส

การผสมดินให้แคคตัสนั้นก็เหมือนกับเราเป็นพ่อครัว ที่ต้องปรุงอาหารให้กับต้นแคคตัสของเราได้ทาน ถ้าอาหารดีมีสารอาหารครบถ้วน แคคตัสก็จะแข็งแรง เติบโต และ ต้านทานโรคได้ดี แต่ถ้าอาหารของเราไม่ดี มีสารอาหารไม่ครบถ้วน ต้นก็จะอ่อนแอ ไม่สามารถเติบโตได้ตามวัย

 

ส่วนประกอบหลักที่เราจะผสมลงไป ได้แก่

เนื้อดิน เช่น ดินขุยไผ่  ดินใบก้ามปู ดินที่ผสมใบไม้หมักต่างๆ  แกลบ ขุยมะพร้าว พีทมอส หรือ มูลสัตว์ต่างๆ

วัสดุที่ช่วยเพิ่มความโปร่งให้ดิน เช่น เพอร์ไลท์ (Perlite) , หินภูเขาไฟ (Pumice) , เวอร์มิคูไลท์ (Vermiculite) , กรวดแม่น้ำ , มะพร้าวสับ , ถ่าน และ ฯลฯ

ปุ๋ย สารป้องกันกำจัดโรค-แมลง เช่น ปุ๋ยละลายช้า (ออสโมโค้ท) สารป้องกันกำจัดแมลง (สตาร์เกิลจี) และสารป้องกันกำจัดเชื้อราต่างๆ

 

ข้อควรระวัง หรือ ข้อควรสังเกตในการผสม

 

ในการผสมดินนั้น เราควรคำนึงถึงความสะอาดของดิน เพื่อไม่ให้เกิดเชื้อรา หรือ เชื้อโรคต่างๆในวัสดุที่เราจะนำมาผสม เราควรทำความสะอาด หรือ ตากแดดไว้สัก 3 – 5 วัน ก่อนที่จะนำมาผสม  ส่วนประกอบที่จะนำมาผสม มีธาตุอาหารเพียงพอหรือไม่ ดินมีความโปร่งพอหรือไม่ ดินโปร่งจะทำให้ดินแห้งไว น้ำสามารถซึมผ่านไปได้ทั้งกระถาง ตามธรรมชาติของแคคตัสแล้ว ไม่ได้ต้องการเนื้อดินเยอะ ควรเน้นไปที่วัสดุที่ช่วยความโปร่งให้ดิน แล้วใส่ดินไปประมาณ ¼ ก็เพียงพอแล้ว ข้อสำคัญ หลังจากที่ผสมดินเสร็จแล้ว ควรรดน้ำให้ชุ่ม และ ตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 1-2 อาทิตย์ เราจะได้ดินที่สะอาดและไม่มีความร้อนจากการย่อยสลายตัวของอินทรีย์สารในดิน

 

 

 

 

 

 

วัสดุที่นิยมนำมาใช้แต่ละชนิดเค้าเรียกยังไง หน้าตายังไง และให้ประโยชน์อะไรบ้าง?

 

ดินร่วน คือ ดินที่มีลักษณะร่วนซุย น้ำซึมผ่านได้ดี มักจะเป็นดินที่มีจำหน่ายสำหรับการปลูกไม้ดอกไม้ประดับทั่วไป เช่น ดินขุยไผ่ ดินใบก้ามปู หรือ ดินใบไม้ผุ

ทรายหยาบ เป็นทรายที่นำมาจากแม่น้ำ เนื่องจากทรายทะเลมีความเค็ม เวลานำมาผสมจะทำให้ดินเค็มมากเกินไป ใช้ผสมเพื่อให้ดินโปร่ง และ แห้งได้เร็วขึ้น

ถ่าน ใช้เพื่อเพิ่มความโปร่งเบาให้กับดิน

พีทมอส คือ วัสดุที่เกิดจากการผุพัง ทับถมกันของพืชจำพวก Sphagnum moss (พืชไร้ดอกชนิดหนึ่ง)  มีสารอินทรีย์ที่เป็นอาหารพืช และ สามารถอุ้มน้ำได้ดี มีเชื้อโรคน้อย สามารถนำมาใช้แทนดินปลูกในการเพาะเมล็ด ได้

หินภูเขาไฟ เป็นหินแร่แถบภูเขาไฟ ซึ่งจะมีโพรงอากาศอยู่ภายใน นำมาย่อยให้ได้ขนาดต่างๆตามความเหมาะสมในการนำไปใช้ มีแร่ธาตุอนินทรีย์ซึ่งพืชสามารถนำไปใช้ได้ ใช้ผสมดินเพื่อให้ดินโปร่ง และระบายน้ำได้ดี จึงเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผสมเครื่องปลูกแคคตัส หินภูเขาไฟที่มีขนาดใหญ่ สามารถนำมารองก้นกระถางเพื่อช่วยในการระบายน้ำได้

ดินญี่ปุ่น เป็นดินที่ทำมาจากธรรมชาติ มีแร่ธาตุสูง ใช้ผสมแทนดินได้ แต่ไม่ควรนำมาผสมกับดินเพราะจะยิ่งทำให้ดินแน่น

 

Tip

 

การทำให้แคคตัสเราดูสวยงามขึ้นไม่ยาก เพียงเลือกวัสดุที่นำมาโรยหน้าดิน ให้เหมาะสม ไม่คม หรือ แหลมเกินไปจนทำให้บาดต้น สีสันให้เข้ากับธรรมชาติ การโรยหน้าดินยังช่วยป้องกันไม่ได้เศษดินดำๆกระเด็นไปโดนปุยขาวๆ หรือเลอะโคนต้น เพียงเท่านี้ก็ทำให้แคคตัสของเราดูสวยขึ้นแล้ว

 

น้ำ (Water) คนเลี้ยงส่วนมากแล้วมักจะรดน้ำในตอนเช้า ก่อนกระถาง หรือ เครื่องปลูกจะร้อนมาก เพราะถ้ารดตอนร้อนมากๆ กระถางกับเครื่องปลูก ก็จะกลายเป็นหม้อต้ม ถ้าตอนเช้าต้องไปทำงานไม่มีเวลารด ก็สามารถรดได้ในตอนเย็น หรือ เมื่อเครื่องปลูกเย็นแล้วก็ได้ ระยะเวลาห่างในการรดน้ำ วิธีสังเกตง่ายๆ หลังจากที่เรารดน้ำไปวันแรก ให้เช็คดูทุกวันว่า อีกกี่วันถัดมาดินถึงจะแห้ง เมื่อดินแห้งแล้วให้เว้นไปอีก 1 วัน แล้วค่อยรดในวันถัดมา ปล่อยให้ดินมีวันที่ได้แห้งบ้าง กระถางเล็ก กระถางใหญ่ ก็มีผลกับระยะในการแห้งของดิน โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 4 วันครั้ง ถ้าเป็นไม้ต่อที่ต้องการน้ำมากหน่อยก็จะรดวันเว้นวัน ถ้าเป็นกลุ่มฮาโวเทีย จะรดพร้อมกับแคคตัส แต่จะสเปรย์น้ำให้วันเว้นวัน

 

ปุ๋ย (Fertilizer)

การใส่ปุ๋ยแคคตัสนั้น เราสามารถใช้ปุ๋ยกล้วยไม้ให้แก่แคคตัสได้ ไม่ควรใจร้อนให้ปุ๋ยแคคตัสในปริมาณมาก เพราะอาจเกิดผลร้ายมากกว่าผลดี การให้ปุ๋ยแคคตัสในปริมาณมาก อาจทำให้ต้นแคคตัสระเบิดได้ แคคตัสที่ได้รับปุ๋ยเป็นประจำจะเจริญเติบโตดี หนามใหม่มีขนาดใหญ่สมบูรณ์สม่ำเสมอทั้งต้น ผิวขนตึง และให้ดอกเมื่อถึงฤดูกาล

 

 

 

 

 

 

โรคและแมลงของแคคตัส

 

 โรคที่สำคัญ

 

1.โรครากเน่าโคนเน่า

 

เป็นโรคที่พบมากที่สุด เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น รดน้ำมากเกินไป  อากาศไม่ถ่ายเท วัสดุปลูกแน่นทึบ ไม่ระบายน้ำ

ลักษณะอาการ : ต้นมีรอยแผลถลอกหรือช้ำเน่า อาจเป็นจุดสีน้ำตาลหากไม่รีบตัดทิ้งหรือรักษา จุดจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนต้นเน่าตายในที่สุด

 

Tip

 

เมื่อพบว่าต้นแคคตัสเน่าให้ตัดส่วนที่เน่าทิ้งไป โดยตัดให้เหนือแผลประมาณ 1-2 นิ้วใช้คอปเปอร์ซัลเฟตหรือยาฆ่าเชื้อราทารอยตัดและบริเวณใกล้เคียงให้ทั่ว

 

แมลงที่สำคัญ

 

1.เพลี้ยแป้ง (Mealy Bug)

 

ลักษณะการเข้าทำลาย เพลี้ยแป้งเป็นแมลงขนาดเล็ก ลำตัวอ่อนนุ่มปกคลุมด้วยผงสีขาวและไขมัน มักซ่อนอยู่ในบริเวณที่มองเห็นได้ยากเช่น รอบๆ ฐานตุ่มหนาม ซอกหนาม โคนต้น และที่ราก ดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของต้น ทำให้ต้นหงิกงอเหี่ยวแห้ง ชะงักการเจริญเติบโตและอาจตายได้ในที่สุด ถ้าเข้าทำลายที่รากจะกัดกินราก ทำให้ต้นเหี่ยวและตายในที่สุด          

* เพลี้ยแป้งจะขับถ่ายสารเหนียวคล้ายน้ำหวานที่มดชอบ เพลี้ยจะเกาะอาศัยมดแพร่ระบาดไปยังส่วนต่างอื่นๆ หรือต้นอื่นๆ

 

2. เพลี้ยหอย (Scale Insect)

 

ลักษณะการเข้าทำลาย เป็นแมลงที่มีรูปร่างกลมคล้ายหัวเข็มหมุด ขับสารเคมีลักษณะคล้ายขี้ผึ้งสีน้ำตาลออกมาเป็นเปลือกแข็งคล้ายเปลือกหอยหุ้มตัวไว้ มักอาศัยอยู่บริเวณโคนหนาม จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของต้น ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต

 

3. เพลี้ยอ่อน (Aphids)

 

ลักษณะการเข้าทำลาย มักเกาะอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนอ่อนๆ ของต้นหรือที่บริเวณดอก ต้นจะแคระแกร็น เจริญเติบโตผิดลักษณะ

* เพลี้ยอ่อนจะขับถ่ายสารเหนียวคล้ายกับเพลี้ยแป้ง นอกจากจะเป็นอาหารของมดแล้วยังเป็นอาหารที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของราดำ (Sooty mold) ด้วย ราดำจะเกาะตามผิวต้นทำให้ดูสกปรกบังส่วนที่เป็นสีเขียว ทำให้ต้นสังเคราะห์แสงได้น้อยลง

 

4. เพลี้ยไฟ (Thrips)

 

ลักษณะการเข้าทำลาย  ดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของต้น ทำให้ผิวต้นซีดเป็นจุดสีขาวหรือสีเหลือง

 

5.หอยและหอยทาก

 

หากสังเกตพบว่ามีรอยสีเงินตามพื้น แสดงว่าหอยทากกำลังจู่โจมแคคตัสอยู่ โดยเฉพาะต้นที่อยู่ในที่ร่มที่มีความชื้นสูง

 

 

 

 

 

 

ที่มาของข้อมูล : http://pantip.com/topic/35240595

 

http://www.jibicactus.com/1444715/%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B9%8C-jibi

 

 

 

 

 

บริษัท โซตัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

อาคารโซตัส เลขที่ 77 เมืองทองธานี ถ.แจ้งวัฒนะ ต.บางพูด

อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120

 

โทรศัพท์ : 02 984-0999 ต่อ 555

โทรสาร : 02 984-0997-8

E-Mail : gardenmaster@sotus.co.th

Copyright © 2016 garden.sotus.co.th All Rights Reserved.