พริก

พริก (Chilli, Chili, Papper Sweet, Hot pepper)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Capsicum Sp.

วงศ์ : SOLANACEAE

 

 

 

 

 

ลักษณะทั่วไป :

 

พริกสามารถปลูกได้ทั่วไป และมีสายพันธุ์ที่แตกต่างกันไป แต่ละสายพันธุ์มีขนาด รูปร่าง สี และกลิ่นที่แตกต่างกันไปด้วย

ราก : เป็นระบบรากแก้ว รากหากินลึกมาก ต้นพริกที่โตเต็มที่รากฝอยจะแผ่ออกไปหากินด้านข้าง

ลำตัน : เป็นพืชไม้พุ่ม ลำต้นตรง กิ่งจะเจริญจากลำต้นเพียง 1 กิ่ง แล้วแตกเป็น 2 กิ่ง เพิ่มเป็น 4 เป็น 8 ไปเรื่อยๆ ต้นพริกที่สมบูรณ์จะมีกิ่งแตกขึ้นมาจากต้นที่ระดับดินหลายกิ่ง

ใบ : เป็นแบบใบเดี่ยว ใบแบนเรียบ มีขนเล็กน้อย รูปร่างตั้งแต่รูปไข่ไปจนกระทั่งเรียวยาว มีขนาดแตกต่างกันไป

ดอก : เป็นดอกสมบูรณ์เพศ เกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน พริกมักจะออกดอกและติดผลในสภาพที่มีช่วงวันสั้น

ผล : มีทั้งผลเดี่ยวและผลกลุ่ม มีทั้งผลห้อยและผลตั้ง ผลเกิดที่ข้อ ขนาด รูปร่าง สี ความเผ็ด และความยาวแตกต่างกันไป ผลอ่อนมีสีเขียวหรือม่วง เมื่อผลสุกอาจเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นแดง ส้ม เหลือง น้ำตาล ครีม หรือม่วง พร้อมๆ กับการแก่ของเมล็ด ผลพริกมีความเผ็ดแตกต่างกัน

 

Tip : ในระหว่างการเจริญเติบโตของผล หากอุณหภูมิเวลากลางวันสูง และความชื้นต่ำ จะทำให้ผลผลิตมีการเจริญเติบโตผิดปกติ มีรูปร่างบิดเบี้ยว และมีขนาดเล็ก นอกจากนี้การติดเมล็ดก็ยังต่ำกว่าปกติอีกด้วย

 

การจำแนกพันธุ์พริก

 

การจำแนกพันธุ์พริกของประเทศไทย นิยมจำแนกตามความเผ็ดและตามขนาดผล

 

แบ่งตามความเผ็ด

 

            1.รสเผ็ด   เช่น พริกใหญ่ (พริกชี้ฟ้า, พริกมัน, พริกเหลือง)  พริกขี้หนูผลใหญ่ (ห้วยสีทน, หัวเรือ, จินดา, เดือยไก่, กะเหรี่ยง) หริกขี้หนูผลเล็ก (ขี้หนูสวน, ขี้หนูหอม, ขี้นก)

            2.รสไม่เผ็ด เช่น พริกหวาน พริกหยวก

 

 

 

 

 

 

การปลูกและการดูแลรักษา

 

สภาพอากาศ : สำหรับการติดผลอุณหภูมิจะอย่างในช่วง 25-35 องศาเซลเซียส  ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส อาจจะทำให้ดอกร่วง และมีอัตราการติดผลต่ำ

สภาพดิน : ควรเป็นดินร่วนปนทราย การระบายน้ำดี

 

            การใช้น้ำ : พริกเป็นพืชที่ต้องการน้ำสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยวเสร็จ ไม่ควรให้น้ำมากเกินไป จะทำให้ดินมีน้ำขังแฉะ โดยทั่วไปควรให้น้ำ 3-5 วันครั้ง

            การใส่ปุ่ย : นอกจากจะใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยรองก้นหลุม พร้อมปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15  การปลูกพริกจำเป็นต้องมีการใส่ปุ๋ยเสริมในระหว่างการเจริญเติบโต หลังจากย้ายปลูก 30 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 กรณีที่ต้นไม่แข็งแรงควรให้ปุ๋ยไนโตรเจน เช่น ยูเรีย เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตของต้นในระยะแรก เมื่อต้นอายุประมาณ 10-14 วันหลังย้ายปลูก

            หลังจากย้ายปลูก 60 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ถ้าพริกขาดธาตุอาหารก็จะมีผลต่อการเจริญเติบโต เช่น การขาดธาตุโพแทสเซียมจะทำให้ผลซีดขาว ผิวบางและเมล็ดไม่สมบูรณ์ การขาดธาตุแมกนีเซียมจะทำให้เนื้อเยื่อระหว่างเส้นใบเป็นสีเหลือง ทำให้เกิดอาการใบด่างทั่วใบ ถ้าขาดธาตุเหล็กจะเกิดอาการยอดเหลือง ใบอ่อนที่ยอดจะเหลืองซีด ใบเล็กกว่าปกติและเจริญเป็นกระจุก ผลพริกมีอาการซีดขาว

 

โรคและแมลงที่สำคัญ

 

1.โรคแอนแทรคโนส หรือโรคกุ้งแห้ง (Anthracnose)

 

 

 

สาเหตุ :  เกิดจากเชื้อรา colletrichum piperatum  ทำให้เกิดแผลชนิดวงกลมหรือวงรีรูปไข่ แผลมีสีไม่ดำมาก

              เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum capsici แผลขยายวงกว้างออกไปไม่มีขอบเขตจำกัด ขนาดของแผลใหญ่

ลักษณะอาการ : อาการเห็นชัดเจนบนผลพริกที่แก่จัด หรือผลพริกสุก ระยะที่ผลพริกติดโรคได้ง่าย คือระยะที่ผลพริกโตเต็มที่หรือระยะก่อนที่ผลพริกจะเปลี่ยนสี ผลเริ่มแรกจะเป็นจุดสีน้ำตาลช้ำ และเนื้อเยื่อบุ๋มลงไปจากระดับเดิม และค่อยๆ ขยายวงกว้างเป็นแผลวงกลมหรือวงรีรูปไข่ ซึ่งมองเห็นลักษณะของเชื้อราที่เจริญภายใต้เนื้อเยื่อขยายออกไปในลักษณะที่เป็นวงกลมสีดำซ้อนกันเป็นชั้นๆ ทำให้ผลผลิตเน่า พบระบาดมากในช่วงที่สภาพอากาศชื้นหรือฝนตกชุก

 

2.โรคเหี่ยวเหลือง (Fusarium wilt)

 

สาเหตุ : เกิดจากเชื้อรา Fusarium oxysporum เชื้อจะอยู่ในดิน ถ้าปลูกที่เดิมที่เป็นโรค โดยไม่มีการจัดการที่ดี ก็จะเป็นเรื่อยๆ

ลักษณะอาการ : ใบล่างมีอาการเหลือง ต่อมาใบที่อยู่ถัดมาจะเหลืองมากขึ้นแล้วร่วง ต้นพริกจะแสดงอาการเหี่ยว ในต้นที่ผลิดอกออกผล ดอกและผลอ่อนจะร่วงหล่นพร้อมใบพริก และจะยืนต้นตาย โดยที่ส่วนยอดยังมีใบเขียวอยู่ มักระบาดในช่วงที่มีอุณหภูมิสูง และดินมีความชื้นสูง

 

3.โรคเหี่ยวเขียว (Bacterial wilt)

 

สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas solanacearum

ลักษณะอาการ : อการต้นพริกเหี่ยวทั้งต้น ในวันที่อากาศร้อนจัดและอาจฟื้นคืนใหม่ในเวลากลางคืน ต้นพริกจะมีอาการเช่นนี้อยู่ 2-3 วัน แล้วจะเหี่ยวตายโดยไม่ฟื้น การเหี่ยวจะไม่แสดงอาการใบเหลืองของใบมาก่อนเลย ถ้าถอนต้นออกมาดูจะเห็นว่ารากเน่า  และถ้าเฉือนผิวของลำต้นใกล้ระดับคอดิน จะพบเนื้อเยื่อที่เป็นท่ออาหารช้ำเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน

 

4.โรคใบจุด (Leaf spot)

 

 

 

สาเหตุ : เกิดจากเชื้อรา Cercospora sp. และ Alternaria sp.

ลักษณะอาการ :

เกิดจากเชื้อรา Cercospora sp. อาการเริ่มแรกจะเป็นจุดช้ำน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจะขยายกว้างขึ้นจนแผลมีมีขนาด 3-4 มล. เนื้อเยื่อตรงกลางแผลจะแห้งบางเป็นสีน้ำตาลหรือเทาอ่อน ขอบแผลมีสีน้ำตาลแก่ หรือน้ำตาลอมแดง ตรงกลางแผลมีกระจุกของราสีเทาหรือสีดำอ่อนๆ ขึ้นเป็นกลุ่มๆ  แผลอาจจะขยายรวมติดกันกลายเป็นแผลใหญ่ทำให้แผลมีรูปร่างไม่แน่นอน เนื้อเยื่อตรงกลางแผลจะแห้งและหลุดไปก่อนกำหนดทำให้ต้นไม่สมบูรณ์ ผลผลิตน้อยลง

เกิดจากเชื้อรา Alternaria sp. เริ่มแรกจะเป็นแผลวงกลม แผลด้านหลังมักมีสีอ่อนกว่าด้านท้องใบ แผลขยายวงกว้างออกไปจนเป็นแผลใหญ่ บางแผลจะมีขอบสีเหลือง ถ้าอากาศชื้นจะเห็นสปอร์ของเชื้อราขึ้นบนแผลด้านท้องใบมองดูเป็นผงสีน้ำตาลไหม้

 

5.โรคใบหงิดหรือโรคด่าง

 

สาเหตุ : เกิดจากเชื้อไวรัส

ลักษณะอาการ :  ใบพริกจะหงิก หรือด่าง ใบมีขนาดเล็กลง เกิดจากแมลงพาหะ เช่น เพลี้ยอ่อน ไรขาว

Tip : อาการที่เกิดจากไวรัส ถ้าเป็นแล้วจะไม่สามารถรักษาได้ ต้องถอนทิ้งและเผาทำลาย ควรป้องกันโดยการป้องกันและกำจัดแมลงที่เป็นพาหะ นำเชื้อไวรัส

 

แมลงศัตรูของพริก

 

1.เพลี้ยไฟพริก (Thrips)

 

 

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Scirothrips dorsalis Hoods

ลักษณะอาการ : เมื่อพริกถูกเพลี้ยไฟดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณยอดอ่อนหรือใบอ่อน จะทำให้ใบอ่อนหรือยอดอ่อนหงิก และม้วนห่อขึ้นด้านบนทั้งสองข้าง เนื้อในเป็นคลื่น ยิ่งนานวันขึ้นจะปรากฏชัดเป็นรอยด้านสีน้ำตาล หรือเป็นทางคล้ายขี้กลาก ถ้าเกิดในช่วงที่พริกออกดอกจะทำให้ดอกร่วง ถ้าระบาดในช่วงติดผล ผลจะบิดงอ ระบาดมากในช่วงฤดูแล้ง ฝนทิ้งช่วง แดดจัด อุณหภูมิสูงความชื้นน้อย

 

2.เพลี้ยอ่อน (Aphid)

 

 

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aphid gossypill

ลักษณะอาการ : เพลี้ยอ่อนจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนอ่อนของพริก คือยอดอ่อน ใบอ่อน ทำให้ต้นแคระแกร็น ใบบิดเป็นคลื่นบิด ผิวใบเป็นมันคล้ายถูกชโลมด้วยน้ำมันและสะท้อนแสง ใบส่วนยอดจะเรียวเล็ก หงิก เมื่อพลิกใบดูจะเห็นตัวเพลี้ยอ่อนเกาะอยู่ เพลี้ยอ่อนเป็นพาหะนำไวรัสมาสู่พริก ถ้าระบาดมากๆ จะทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต แคระแกร็นได้ ถ้ามีการระบาดที่รุนแรง จะสังเกตเห็นมดเดินไปมา และพบน้ำเหนียวๆ ตามใบพริก และบริเวณยอดหรือใบอ่อน บางครั้งมีราดำ ราดำนี้เป็นผลมาจากน้ำหวานเหนียวๆ ที่เพลี้ยอ่อนขับถ่ายออกมา

 

3.ไรขาว (Broad mite)

 

 

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polyphagotarsonemus latus Banks

ลักษณะอาการ : เมื่อไรขาวดูดกินน้ำเลี้ยงในส่วนอ่อนๆ ของพริก อาการในระยะแรก ถ้าจับดูที่ใบจะไม่รู้สึกเรียบเหมือนเนื้อใบปกติ ถ้าระบากมากใบอ่อนที่ยอดจะหงิก เล็กเรียวแหลม ก้านใบยาวเปราะ หักง่าย ขอบใบม้วนงอลงด้านล่าง ทำให้ใบเรียวยาวมากขึ้น อาการรุนแรงจนใบยอดสั้นเล็กดูเป็นฝอย ในที่สุดจะร่วง ถ้าระบาดเป็นประจำจะทำให้ต้นแคระแกร็น ชะงักการออกดอกติดผล

 

4.หนอนเจาะสมอฝ้าย (Cotton bollworm)

 

 

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Helicoverpa armigera

ลักษณะอาการ : มักจะเจาะเข้าไปกัดกินไส้ในเม็ดพริก เมื่อเจาะกัดเม็ดใดแล้ว จะย้ายไปไปยังเม็ดอื่น ทำความเสียหายเป็นอย่างมาก

 

5.แมลงวันพริก (Solanum fruitfly)

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bactrocera latifrons

ลักษณะอาการ : ตัวเต็มวัยจะวางไข่โดยเจาะผ่านผิวพริก เมื่อฟักตัวเป็นหนอนจะกัดกินภายในผลพริก ระยะเริ่มแรกของการทำลายจะเห็นรอยเป็นทางภายในผลพริก ไส้พริกจะเป็นสีดำ บางครั้งเรียกอาการไส้ดำ ต่อมาจะเน่า

 

ที่มา : จิราภา   จอมไธสง. 2551. คู่มือนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร “พริก” กรมส่งเสริมการเกษตร กรุงเทพมหานคร.

 

 

 

 

 

บริษัท โซตัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

อาคารโซตัส เลขที่ 77 เมืองทองธานี ถ.แจ้งวัฒนะ ต.บางพูด

อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120

 

โทรศัพท์ : 02 984-0999 ต่อ 555

โทรสาร : 02 984-0997-8

E-Mail : gardenmaster@sotus.co.th

Copyright © 2016 garden.sotus.co.th All Rights Reserved.