มะม่วง
มะม่วง (Mango)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Mangifera indica
มะม่วง เป็นไม้ยืนต้น และเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ใบโต ยาว ปลายแหลม ขอบใบเรียบ ใบอ่อนสีแดง ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ดอกขนาดเล็ก สีขาว ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเหลือง เมล็ดแบน เปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง สายพันธุ์ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เช่น เขียวเสวย แรด น้ำดอกไม้ โชคอนันต์ อกร่อง ฟ้าลั่น หนังกลางวัน แก้ว มหาชนก เป็นต้น
การปลูกและการดูแลรักษา
ลักษณะดิน เป็นดินร่วนเหนียว ดินร่วน หรือร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี
สภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตประมาณ 20-34 องศาเซลเซียส
น้ำ มีความเป็นกรด-ด่าง ประมาณ 6-7.5
การปลูก ควรปลูกในช่วงฤดูฝน ความชื้นในดินมีความสำคัญต่อการอยู่รอดและการเจริญเติบโต หลังปลูกไม่เกิน 7 วัน ควรมีฝนตก แต่ถ้าน้ำเพียงพอสามารถปลูกได้ตลอด
การให้ปุ๋ย
-มะม่วงอายุ 1-2 ปี ในช่วงต้นและปลายฝน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1-2 กก.ต่อต้นต่อปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง แล้วกลบดิน
-มะม่วงที่ให้ผลแล้ว หรือมีอายุ 3 ปีขึ้นไป
ระยะบำรุงต้น หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตและตัดแต่งกิ่งแล้ว ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 20-10-10 หรือ 30-10-10 อัตรา 1-2 กก.ต่อต้น ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ และใส่อีกครั้งเมื่อมะม่วงเริมแตกใบชุดที่ 2
ระยะเร่งสร้างตาดอก ก่อนมะม่วงออกดอก 2-3 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 หรือ 8-24-24 อัตรา 1-2 กก./ต้น สำหรับต้นอายุ 2-4 ปี และอัตรา 2-4 กก./ต้น สำหรับต้นอายุ 5-7 ปี และอัตรา 4-6 กก./ต้น เมื่อต้นอายุ 8 ปีขึ้นไป
ระยะบำรุงผล หลังดอกบาน 1 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1-2 กก./ต้น
ระยะปรับปรุงคุณภาพผลผลิต ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 1 เดือน ให้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 1-2 กก./ต้น และอาจพ่นปุ๋ยทางใบร่วมด้วย
-ก่อนใส่ปุ๋ยทุกครั้ง ควรกำจัดวัชพืชรอบโคนต้น ให้หว่านปุ๋ยใต้ทรงพุ่มให้ทั่ว แล้วพรวนดินกลบ
โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ
โรคที่สำคัญของมะม่วง
1.โรคแอนแทรคโรส (Antracnose)
สาเหตุ : เชื้อรา Colletotrichum gloesporioides Penz.
ลักษณะอาการ เข้าทำลายตั้งแต่ระยะต้นกิ่งใบอ่อน ก้านช่อดอก ผลอ่อน และผลหลังเก็บเกี่ยว เกิดจุดแผลยุบตัวสีน้ำตาล-ดำ ขอบสีน้ำตาลเข้ม ขนาดไม่แน่นอน ขยายออกตามความยาวของกิ่งต้น หรือที่อ่อนมากๆ กิ่งจะแห้งเน่าดำทั้งต้น ใบที่อ่อนมากๆ จะเกิดอาการไหม้บิดเบี้ยว ที่ดอกและก้านช่อดอกเริ่มแรกเป็นจุดแผลสีแดงหรือน้ำตาลแดง แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มบนก้านช่อดอก จุดแผลมักขยายเชื่อมติดกันเกิดอาการก้านช่อดำ กลีบดอกและผลอ่อนที่ถูกทำลายจะเป็นสีดำ และหลุดร่วง อาการบนผลเป็นจุดแผลสีน้ำตาล-ดำ ยุบตัวลงไปในเนื้อผล ขนาดไม่แน่นอน แผลลุกลามอย่างรวดเร็ว บนผลสุกบริเวณกลางแผลอาจพบเมือกสีส้มเรียงเป็นวง
2.โรคราแป้ง (Powdery mildew)
สาเหตุ : เชื้อรา Oidium mangiferae
ลักษณะอาการ บนใบ เริ่มแรกเห็นเป็นจุดแผลสีค่อนข้างซีดก่อนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเทา พบผงสีขาวขึ้นคลุมบางๆ ใบที่เป็นรุนแรงจะบิดเบี้ยวเสียรูป อาการที่ช่อดอกเห็นเป็นผงสีขาวขึ้นคลุมดอกย่อย ช่อดอก ก้านช่อดอก และก้านดอกย่อย ดอกถูกทำลายแห้งเปลี่ยนเป็นสีดำและหลุดร่วงไป ไม่ติดผลจนเห็นเหลือแต่ก้าน ก้านช่อที่ติดผลมีอาการช้ำสีเข้มกว่าปกติ ผลที่ได้มีขนาดเล็กและหลุดร่วงง่าย พบแผลช้ำที่บริเวณขั้วผล
3.โรคราเสี้ยน โรคปลายผลเน่า หรือโรคขาดธาตุแคลเซียม
สาเหตุ : เกิดจากการขาดแคลเซียม หรือธาตุอยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ไม่ได้ เช่น ในดินมีโปแตสเซียมสูง
ลักษณะอาการ แคลเซียมเป็นธาตุที่พืชใช้สร้างผนังเซลล์ให้แข็งแรง ถ้าพืชขาดจะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณก้านผลเน่า พบได้ตั้งแต่ระยะผลอ่อน สีผิวที่ปลายผลอ่อนค่อนข้างเหลืองด้านๆ ต่อมาเกิดแผลสีน้ำตาลและกลายเป็นสีดำ เมื่อผลโตขึ้นแผลจำกัดอยู่เพียงบริเวณปลายผลไม่ขยายลุกลามไปที่ผลส่วนดี แต่จะค่อยๆ แห้งดำและลีบลง ขอบแผลเห็นได้ชัดเจนระหว่างบริเวณเป็นโรคมีสีดำกับสีเขียวของผิวผลปกติ ภายในผลเป็นแผลเน่าช้ำ สีน้ำตาลหรือสีดำ เมล็ดอ่อนจะเริ่มเสียและเป็นสีดำ
4.โรคราดำ (Soot mold Black mildew)
สาเหตุ : capnodium mangiferae และ Meliola mangifrae
ลักษณะอาการ ที่ผิวใบ กิ่งอ่อน ช่อดอก ดอกและขั้วผลมีผงหรือเส้นใย หรือแผ่นสีดำปกคลุมเป็นหย่อมๆ บางชนิดขึ้นฟูเป็นแฉก คล้ายดาว ในสภาพอากาศแห้งแล้งคราบราดำบางชนิดบนใบอาจค่อยๆ หลุดไป แต่บางชนิดอาจฝังตัวแน่น เชื้อราดำส่วนใหญ่ไม่ได้ทำลายเนื้อเยื่อพืชโดยตรงแต่จะไปบดบังการได้รับแสงของผิวใบ มีผลต่อการสังเคราะห์แสง และปรุงอาหาร เชื้อขึ้นคลุมดอก และเกสรจะเป็นอุปสรรคต่อการผสมเกสร ทำให้ไม่ติดผล และคราบราดำที่ผล ทำให้ความสวยงามที่ผิวผลลดลง ราคาผลผลิตลดลงด้วย
5.โรคช่อดอกดำ (Blossom blight)
สาเหตุ : เชื้อรา Colletotrichum gloesporioides Penz.
ลักษณะอาการ ก้านช่อดอกหลังดอกบานเริ่มเป็นจุดแผลสีแดง หรือสีน้ำตาลแดง แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม จุดแผลมักขยายเชื่อมติดกัน เกิดอาการก้านช่อดำ กลีบดอกและผลอ่อนที่ถูกทำลายจะเป็นสีดำ และหลุดร่วง
แมลงศัตรูมะม่วง
1.เพลี้ยไฟ (Chilli thrips)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Scietothrips dorsalis Hood
ลักษณะการเข้าทำลาย : ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดน้ำเลี้ยงทำให้ขอบใบและปลายใบแห้ง ดอกร่วง ผลเป็นขี้กลาก มีรอยสากด้าน หรือบิดเบี้ยว
2.เพลี้ยจักจั่นมะม่วง (Mango jassid)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Idioscopus clypealis (Lethierry)
ชื่ออื่นๆ : แมงอะก้า
ลักษณะและการเข้าทำลาย : ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงใบอ่อน ช่อดอก ก้านดอก และยอดอ่อน ทำให้ดอกแห้งและร่วง มีคราบน้ำหวานเหนียวๆที่แมลงขับถ่ายไว้ เกิดเป็นราดำเปรอะเปื้อนใบและผล
3.ด้วงงวงกัดใบมะม่วง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Deporaus marginatus Pascoe
ลักษณะและการเข้าทำลาย : ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่บนใบอ่อนบริเวณเส้นกลางใบ แล้วจะกัดใบใกล้ขั้วใบเป็นแนวเส้นตรงคล้ายถูกกรรไกรตัด ทำให้ใบอ่อนส่วนที่มีไข่ติดอยู่ร่วงลงบนพื้นดิน หนอนที่ฟักแล้วจะเจาะเข้าไปกัดกินเนื้อเยื่อใต้ผิวใบ
4.หนอนผีเสื้อเจาะผลมะม่วง (Mango seed borer, seed boring caterpillar)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Noorda albizonalis Hampton
ชื่ออื่นๆ : หนอนเจาะเมล็ดและผลมะม่วง
ลักษณะและการเข้าทำลาย : ตัวหนอนเจาะผลมะม่วงบริเวณก้นผลเข้าไปกัดกินอยู่ภายใน และจะเจาะเข้าไปถึงเมล็ดอ่อน ผลที่ถูกทำลายมีขี้ขุยออกมาบริเวณเปลือกของผล ทำให้ผลเน่าเสียและร่วงหล่น
5.แมลงวันผลไม้ (oriental fruit fly)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bactrocera dorsalis Hendel
ชื่ออื่นๆ : แมลงวันทอง, แมลงวันผลไม้ภาคตะวันออก
ลักษณะและการเข้าทำลาย : ส่วนหัว อก และท้อง สีน้ำตาลอ่อน ที่เส้นหลังอกมีแถบสีเหลืองทองเป็นแห่งๆ วางไข่ในผลไม้ใกล้สุก หนอนอาศัยกัดกินในผล ทำให้ผลเน่าเสียและร่วงหล่น
6.เพลี้ยจักจั่นฝอย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amrasca splendens Chauri
ลักษณะและการเข้าทำลาย : ลำตัวสีเขียวอ่อนขนาด 2.5 มล. หัวสีแดงเขม ปีกใสสีเขียวอมเหลือง ดูดกินน้ำเลี้ยงใบอ่อน ยอดอ่อนที่แตกใหม่ ทำให้ขอบใบหงิกงอ เป็นรอยไหม้แห้งกรอบ ปลายใบหดสั้น
7.ด้วงหนวดยาวเจาะลำต้น
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Batocera rufomaculata De Geer
ลักษณะและการเข้าทำลาย : ตัวเต็มวัยเป็นด้วงหนวดยาว วางไข่ในเวลากลางคืน ตัวหนอนจะกัดกินชอนไชตามเปลือกไม้ด้านใน ทำให้ต้นมะม่วงทรุดโทรม ใบแห้ง และยืนต้นตายได้ สังเกตรอยทำลายได้จากขุยไม้ที่หนอนถ่ายออกมาบริเวณเปลือกลำต้น
8.เพลี้ยแป้ง (Mealybug)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rastrococcus spinosus (Robinson), Ferrisia virgata (Cockerell)
ลักษณะและการเข้าทำลาย : เพลี้ยแป้งตัวเมียจะออกลูกเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนที่ออกมาจะว่องไว และมีเส้นใยสีขาวปกคลุม มัอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และจะมีราดำขึ้นปกคลุมบริเวณ ใบ ผล โดยเฉพาะด้านหลังใบ มีมดเป็นตัวการที่นำเพลี้ยแป้งให้แพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆของลำต้น
เพิ่มเติมเกี่ยวกับการป้องกันกำจัดได้ที่ : http://goo.gl/5HuRqH
ขอขอบคุณข้อมูล : กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร
ความเป็นมา
ความเป็นมา
ผลิตภัณฑ์
ปุ๋ย ฮอร์โมนพืชและ
ธาตุอาหารเสริม
ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง
ผลิตภัณฑ์กำจัดโรคพืช
ผลิตภัณฑ์กำจัดวัชพืช & สารเพิ่มประสิทธิภาพ
นานาพันธุ์ไม้
นานาพันธุ์ไม้
บริษัท โซตัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
อาคารโซตัส เลขที่ 77 เมืองทองธานี ถ.แจ้งวัฒนะ ต.บางพูด
อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120
โทรศัพท์ : 02 984-0999 ต่อ 555
โทรสาร : 02 984-0997-8
E-Mail : gardenmaster@sotus.co.th
Copyright © 2016 garden.sotus.co.th All Rights Reserved.