กุหลาบ

 

กุหลาบ (Rose)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rosa hybrids

ชื่อท้องถิ่น : -

วงศ์ : Rosaceae

 

 

 

 

ลักษณะ :

ลำตัน : กุหลาบเป็นไม้พุ่มผลัดใบ และกึ่งผลัดใบ มีขนาดลำต้นตั้งแต่ 0.10-1 เมตร กิ่งมักจะมีหนามเมื่อมีอายุ 2 สัปดาห์

ใบ : รูปทรงไข่ปลายแหลม หรือกลม บางครั้งเป็นหยัก มีใบย่อย 3, 5 หรือ 7 ใบ จัดเรียงแบบสลับ

ดอก : จะเกิดที่ยอด เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีทั้งดอกชั้นเดียวและดอกซ้อน สีของดอกมีหลายสี

 

 

 

 

 

การปลูก

 

ดิน : กุหลาบชอบดินที่ระบายน้ำดี ดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย การที่ปลูกในดินที่เหนียวจัดกุหลาบจะไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร pH ของดินควรอยู่ที่ 5.5-6.5 ชอบดินกรดอ่อนๆ ถ้าดินเป็นกรดหรือด่างจัดๆ ไม่ควรปลูกเพราะจะทำให้กุหลาบไม่เจริญเติบโต แคระแกร็น หรืออาจตายได้

การให้น้ำ : สามารถให้ทุกวัน หรือ 2-3 วันครั้ง แล้วแต่สภาพอากาศ

อุณหภูมิ : ประมาณ 20-25 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส การเจริญเติบโตจะช้าเป็นอย่างมาก

ความต้องการแสง : กุหลาบเป็นไม้ดอกที่ต้องการแสงมาก ควรปลูกในที่โล่งแจ้งได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ถ้าปลูกในที่แสงน้อยจะทำให้กุหลาบอ่อนแอ เป็นโรคได้ง่าย ดอกมีขนาดเล็ก ก้านดอกยาว

 

 

การดูแลรักษา

 

การดูแลกุหลาบระยะแรกหลังปลูก เมื่อกุหลาบเริ่มแตกตา ควรส่งเสริมให้มีการเจริญเติบโตทางใบเพื่อสะสมอาหาร และสร้างกิ่งกระโดง เพื่อให้ได้ดอกที่มีขนาดใหญ่และก้านยาว ซึ่งทำได้โดยการเด็ดยอดเป็นระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือร เด็ดส่วนเหนือใบสมบูรณ์ (5 ใบย่อย)  ใบที่สองจากยอด เมื่อดอกมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วลันเตา จากนั้นกิ่งกระโดงจะเริ่มแทงออก ซึ่งกิ่งกระโดงนี้จะเป็นโครงสร้างหลักให้ต้นกุหลาบให้ดอกที่มีคุณภาพ

Tip : การส่งเสริมการเจริญเติบโตทางด้านลำต้นและใบ ควรใส่ ออสโมโค้ท สูตร 13-13-13 โรยรอบโคนต้น เดือนละ 1 ครั้ง และพ่น นูแทค ไฮ-เอ็น ปุ๋ยทางใบทุกๆ 15 วัน  เพื่อบำรุงต้นกุหลาบให้สมบูรณ์ พร้อมต่อการออกดอก

 

            การตัดแต่งกิ่ง การตัดแต่งกิ่งทำได้หลายวิธี ส่วนใหญ่เป็นการตัดแต่งเพื่อให้ได้กิ่งที่สมบูรณ์ และเพื่อให้ได้กิ่งกระโดงมากขึ้น และรักษาใบไว้กับต้นให้มากที่สุด เพื่อให้ได้กิ่งที่สมบูรณ์ที่สุด ควรรักษาให้พุ่มกุหลาบโปร่งและไม่สูงเกินไป จะได้สะดวกต่อการดูแลรักษา และแสงที่กระทบโดนต้นจะช่วยให้เกิดกิ่งกระโดงได้มาก

 

            การให้น้ำ อาจจะให้ทุกวัน วันเว้นวัน หรือ 2-3 วันต่อครั้ง แล้วแต่สภาพการอุ้มน้ำของดิน อย่ารดน้ำให้ดินแฉะตลอดเวลา ควรให้ดินมีโอกาสระบายน้ำ และมีอากาศเข้าไปแทนที่

 

            การใช้ปุ๋ย

            การให้ปุ๋ยก่อนปลูก : ปุ๋ยก่อนปลูกคือปุ๋ยที่ผสมกับวัสดุปลูก หรือปุ๋ยรองพื้น เช่น ปุ๋ยละลายช้า ออสโมโค้ท สูตร 13-13-13 เพื่อให้อาหารพืชที่เพียงพอตั้งแต่เริ่มปลูก และมีธาตุอาหารเพียงพอตลอดการปลูก

            การให้ปุ๋ยระหว่างปลูก : ปุ๋ยสำหรับไม้ดอกใช้สัดส่วนของ N P K คือ 1 : 0.5 : 1 หรือ 2 : 1 : 1 สามารถใช้ปุ๋ยทางดินร่วมกับปุ๋ยทางใบ เช่น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 3 กรัม/ต้น/สัปดาห์ หรือปุ๋ยทางใบ นูแทค ไฮ-เอ็น อัตรา  1 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร พ่นให้ทั่วทรงพุ่ม

 

 

 

 

 

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญของกุหลาบ

 

            กุหลาบเป็นไม้ดอกชนิดหนึ่งที่มีศัตรูมาก ผู้ปลูกควรทราบลักษณะสภาพแวดล้อม วงจรชีวิตของศัตรูพืช รวมทั้งการป้องกันกำจัด และการใช้สารเคมีให้มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายแก่ตัวเองและผู้อื่น

Tip : การพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ควรใช้สารชนิดเดียวกันติดต่อกันอย่างน้อย 2-3 ครั้ง เพื่อให้สารนั้นแสดงประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ จากนั้นควรสลับสับเปลี่ยนกลุ่มสารเคมีเพื่อลดการดื้อยา

 

 

            โรคพืชที่สำคัญ

 

1.โรคราน้ำค้าง (Downey mildew)

สาเหตุ : เกิดจากเชื้อรา Peronospora spasa

ลักษณะอาการ  อาการจะแสดงบนใบ กิ่ง กลีบเลี้ยง กลีบดอก ใบจะมีสีอ่อนกว่าธรรมดา และกระด้าง ใบจะเกิดจุดสีม่วงแดงหรือน้ำตาล ต่อมาขยายเป็นวงกว้างออกไป และถูกจำกัดด้วยเส้นใบจึงเห็นเป็นรูปสี่เหลี่ยม ใบจะเหลืองและร่วงหล่นอย่างรวดเร็ว เมื่อสภาพอากาศมีความชื้นและเย็น ด้านหลังใบบนแผลสีน้ำตาลจะเห็นเส้นใยหยาบๆ สีขาวอมเทาเป็นกระจุกอยู่ด้านหลังของใบ บนกิ่งและคอดอก อาจจะพบบริเวณที่มีสีม่วงจนถึงสีดำที่มีขนาดเล็กเป็นจุด ปลายยอดและกิ่งที่ถูกทำลายอาจตายได้  มักระบาดในช่วงที่มีหมอกและน้ำค้างลงจัดในฤดูหนาว หรือไม่มีแดดติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน ความชื้นสูง

 

 

2.โรคราแป้ง  (Powdery mildew)

 

สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Sphaerotheca pannosa

ลักษณะอาการ อาการเริ่มแรกผิวใบด้านบนจะมีลักษณะนูน อวบน้ำเล็กน้อย และบริเวณนั้นมักมีสีแดง จะเห็นเส้นใยและสปอร์สีขาวเด่นชัดบนผิวใบ ใบจะบิดเบี้ยว และปกคลุมด้วยเส้นใยสีขาว ใบแก่จะเห็นราแป้งเป็นวงกลม หรือรูปทรงไม่แน่นอน 

 

 

3.โรคใบจุดสีดำ (Black spot)

 

 

สาเหตุ : เกิดจากเชื้อรา Diplocarpon rosae

ลักษณะอาการ : อาการมักจะเกิดกับใบล่าง เริ่มแรกเห็นเป็นจุดกลมสีดำขนาดเล็กด้านบนใบ และขยายใหญ่ขึ้นหากอากาศมีความชื้นสูง และผิวใบเปียก หากเป็นติดต่อกันนานทำให้ใบร่วงก่อนกำหนด ต้นโทรม ใบและดอกมีขนาดเล็กลง มักระบาดมากในช่วงฤดูฝน

 

 

แมลงศัตรูที่สำคัญ

 

1.ไรแดง (Spider mite)

 

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tetranychus urticae, Eutetranychus orientalis, Schizotetranychus sp.,

ลักษณะการทำลาย : ไรแดงจะเข้าทำลายใบแก่มากกว่าใบอ่อน โดยดูดกินน้ำเลี้ยงใต้ใบเป็นกลุ่มๆ ทิ้งให้เห็นเป็นจุดสีเหลืองเล็กๆ อยู่ทั่วไป และกลายเป็นสีน้ำตาลจนกระทั่งใบแห้งและร่วงหล่น บางครั้งจะพบการเข้าทำลายที่ดอก ทำให้ดอกบิดเบี้ยว เมื่อเห็นเส้นใยแสดงว่าระบาดรุนแรงแล้ว

 

 

2.เพลี้ยไฟ (Thrips )

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Scirtothrips dosalis และ Thrips coloratus

ลักษณะการทำลาย เพลี้ยไฟมีปากแบบเขี่ยดูด ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ใบและดอกหงิก มีรอยสีน้ำตาล มักแฝงตัวอยู่ในยอดอ่อน จะระบาดรุนแรงในช่วงหน้าร้อน หรือช่วงที่อากาศแห้งหรือฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะในระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม

 

 

3.หนอนเจาะสมอฝ้าย (Cotton Bollworm, American Bollworm, Corn Earworm)

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Helicoverpa armigera

ชื่ออื่นๆ : หนอนเจาะสมออเมริกัน

หนอนกระทู้ผัก (common cutworm)

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Spodoptera litura

ชื่ออื่นๆ : หนอนรัง

หนอนกระทู้หอม (Beet armyworm)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spodoptera exigua

ลักษณะการทำลาย : หนอนกลุ่มนี้จะกัดกินใบ ดอก ก้าน และเจาะเข้าไปอยู่ภายในดอก ทำให้ดอกเป็นรูเว้าแหว่ง ทำให้ดอกเสียหาย

 

 

4.ด้วงกุหลาบ (Rose beetle)

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Adoretus compressus

ลักษณะการทำลาย : จะเข้าทำลายโดยการกัดกินใบ และดอก ทำให้ดอกไม่สวย ด้วงกุหลาบจะออกหากินในเวลากลางคืนระหว่าง 19.00-21.00 น. ส่วนในเวลากลางวันจะพบตามดินใกล้รากพืช

 

 

5.เพลี้ยหอย (Scale insect)

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aulucaspis rosae

ลักษณะการทำลาย : ทำลายกุหลาบโดยเกาะดูดน้ำเลี้ยงตามกิ่งก้าน ลำต้นของกุหลาบ ถ้าทำลายมากๆ ต้นอาจทรุดโทรมถึงตายได้

 

 

6.เพลี้ยอ่อน (Aphids)

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macrosiphum rosae และ Myzaphis rosarum

ลักษณะการทำลาย : ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงช่อดอก ยอดอ่อน และใบอ่อน ทำให้ดอกที่ถูกทำลายมีขนาดเล็ก ใบเหลืองและร่วง

 

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

ชื่อเรื่อง : กุหลาบ: คู่มือนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร

ปีที่จัดพิมพ์ : 2551

ISBN : 978-974-9562-65-9

ชื่อผู้แต่ง : มณฑกาฬ ลีมา

หน่วยงานจัดพิมพ์ : กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร

คำสำคัญ : กุหลาบ;ข้อมูลพื้นฐานของพืช;พันธุ์;การปลูก;การดูแลรักษา;การจัดการศัตรูพืช;การเก็บเกี่ยว;ปัจจัยสิ่งแวดล้อม;การเจริญเติบโต;คู่มือ;การถ่ายทอดเทคโนโลยี

http://ag-ebook.lib.ku.ac.th/ebooks/2011/2011-005-0137/index.html#/18/zoomed

 

 

 

บริษัท โซตัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

อาคารโซตัส เลขที่ 77 เมืองทองธานี ถ.แจ้งวัฒนะ ต.บางพูด

อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120

 

โทรศัพท์ : 02 984-0999 ต่อ 555

โทรสาร : 02 984-0997-8

E-Mail : gardenmaster@sotus.co.th

Copyright © 2016 garden.sotus.co.th All Rights Reserved.